วันเสาร์, กันยายน 07, 2556

Relationships of organisms in the ecosystem


ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ 


       ในระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ต่อกัน เช่น ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ดิน น้ำ แสงสว่าง อากาศ แร่ธาตุ ความชื้น อุณหภูมิ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ระบบนิเวศที่มีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดสมดุลในธรรมชาติ



Components of the ecosystem

องค์ประกอบของระบบนิเวศ




ระบบนิเวศทุก ๆ ระบบจะมีโครงสร้างที่กำหนดโดยชนิดของสิ่งมีชีวิตเฉพาะอย่าง ที่อยู่ในระบบนั้น ๆ โครงสร้างประกอบด้วยจำนวนและชนิดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เหล่านี้ และการกระจายตัวของมันถึงแม้ว่าระบบนิเวศบนโลกจะมีความหลากหลายแต่มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันคือ ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ
ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic component) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.1 อนินทรียสาร เช่น คาร์บอนไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและออกซิเจน เป็นต้น
1.2 อินทรียสาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และฮิวมัส เป็นต้น
1.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสง อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ความ เค็มและความชื้น เป็นต้น
ส่วนประกอบที่มีชีวิต (Biotic component) แบ่งออกได้เป็น
2.1 ผู้ผลิต (producer) คือ พวกที่สามารถนำเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสังเคราะห์ อาหารขึ้นได้เอง จากแร่ธาตุและสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ พืชสีเขียว แพลงค์ตอนพืช และแบคทีเรียบางชนิด พวกผู้ผลิตนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนเริ่มต้นและเชื่อมต่อระหว่างส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิตกับส่วนที่มีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศ
2.2 ผู้บริโภค (consumer) คือ พวกที่ได้รับอาหารจากการกินสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ อีกทอด หนึ่งได้แก่พวกสัตว์ต่าง ๆ แบ่งได้เป็น
- ผู้บริโภคปฐมภูมิ (primary consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น กระต่าย วัว ควาย และปลาที่กินพืชเล็ก ๆ ฯลฯ
- ผู้บริโภคทุติยภูมิ (secondary consumer) เป็นสัตว์ที่ได้รับอาหารจากการกินเนื้อสัตว์ที่ กินพืชเป็นอาหาร เช่น เสือ สุนัขจิ้งจอก ปลากินเนื้อ ฯลฯ
- ผู้บริโภคตติยภูมิ (tertiauy consumer) เป็นพวกที่กินทั้งสัตว์กินพืช และสัตว์กินสัตว์ นอกจากนี้ยังได้แก่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับขั้นการกินสูงสุดซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ไม่ถูกกินโดยสัตว์อื่น ๆ ต่อไป เป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสุดท้ายของการถูกกินเป็นอาหาร เช่น มนุษย์

2.3 ผู้ย่อยสลาย (decomposer) เป็นพวกไม่สามารถปรุงอาหารได้ แต่จะกินอาหารโดย การผลิตเอนไซน์ออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่าง ๆ ในส่วนประกอบของสิ่งที่มีชีวิตให้เป็นสารโมเลกุลเล็กแล้วจึงดูดซึมไปใช้เป็นสารอาหารบางส่วน ส่วนที่เหลือปลดปล่อยออกไปสู่ระบบนิเวศ ซึ่งผู้ผลิตจะสามารถเอาไปใช้ต่อไป จึงนับว่าผู้ย่อยสลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สารอาหารสามารถหมุนเวียนเป็นวัฏจักรได้

Type of ecosystem

ประเภทของระบบนิเวศ

     
ระบบนิเวศมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก มีมากมายหลายระบบ แต่ละระบบมีขนาดเล็กใหญ่ สลับซับซ้อนแตกต่างกัน โลกของเราจัดเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า โลกของสิ่งมีชีวิต  (biosphere) ซึ่งเป็นที่รวมระบบนิเวศหลากหลายระบบ ส่วนที่จัดเป็นระบบนิเวศเล็ก ๆ เช่น ทุ่งหญ้า หนองน้ำ สระน้ำ ริมรั้ว ใต้ขอนไม้ผุระบบนิเวศแบ่งได้เป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ 



1. ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ได้แก่    

           - ระบบนิเวศบนบก เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย
           - ระบบนิเวศแหล่งน้ำ แบ่งเป็นระบบนิเวศน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง
           - ระบบนิเวศน้ำเค็ม เช่น ทะเล มหาสมุทร 
           - ระบบนิเวศน้ำกร่อย เช่น บริเวณปากแม่น้ำ


2. ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ระบบนิเวศชุมชนเมือง แหล่งเกษตรกรรม นิคมอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งตู้ปลา อ่างเลี้ยงปลา ก็จัดเป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น

Ecosystem

ระบบนิเวศ




สาระสำคัญ
          สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งมีชีวิตมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและสมพันธ์กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีการใช้พลังงานและแลกเปลี่ยนสารอาหารซึ่งดำเนินไปภายใต้ความสมดุลของธรรมชาติเรียกว่า ระบบนิเวศ แต่ถ้าระบบนิเวศขาดความสมดุลหรือถูกทำลาย ย่อมเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสรรพสิ่งในระบบ ทำให้มนุษย์เห็นความสำคัญของระบบนิเวศและรู้จักการนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยแก้ไข้ปัญหา ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

ความหมายของระบบนิเวศ
          ระบบนิเวศ(ecosystem) หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบริเวณนั้น และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่ ได้แก่ ดิน น้ำ แสง ในระบบนิเวศจะมีการถ่ายทอดพลังงานระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ และมีการหมุนเวียนสารต่างๆจากสิ่งแวดล้อมสู่สิ่งมีชีวิตและจากสิ่งมีชีวิตสู่สิ่งแวดล้อม


Environment

สิ่งแวดล้อม (Environment)     


        สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

ประเภทของสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment)
     สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า อากาศ ดิน น้ำ มนุษย์ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมอื่นประกอบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย- สิ่งที่มีชีวิต (Biotic Environment) หรือเรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Environment) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งที่มีชีวิต เช่น พืช สัตว์ มนุษย์- สิ่งที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) หรือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อาจจะมองเห็นหรือมอง ไม่เห็น เช่น แร่ธาตุ อากาศ เสียง
2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Environment) 
     ได้จากทรัพยากรดั้งเดิม แล้วมนุษย์เป็นผู้ดัดแปลงเช่น ถนน บ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมเป็นนามธรรม (Abstract หรือ Social Environment) เช่น วัฒนธรรม ประเพณี การเมือง ศาสนา กฎหมาย


สิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติเฉพาะตัวในแต่ละประเภท สิ่งแวดล้อมนั้น ๆ อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์ต่อกันเป็นลูกโซ่ เมื่อทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะที่ทนทานต่อการถูกกระทบแตกต่างกัน